ปุ่มปรับต่างๆของมิกเซอร์

ปุ่มปรับต่างๆของมิกเซอร์
 อินพุทแจ๊ค (Input Jacks)

ทำหน้าที่รับสัญญาณจากไมโครโฟน หรือจากเครื่องดนตรีต่างๆ ที่เป็นไลน์ (line) ตำแหน่งมักอยู่ด้านบนสุดของมิกเซอร์ ลักษณะของเต้ารับสัญญาณ (jack) จะมีอยู่สามแบบคือ RCA (-10dB) , 1/4 นิ้ว (balance & unbalance) และ XLR การใช้เต้ารับสัญญาณนั้นขึ้นอยู่กับราคาของเครื่องมิกเซอร์นั้น หากมีราคาแพงเต้ารับสัญญาณจะเป็นแบบ XLR ส่วนมิกเซอร์แบบกึ่งโปรจะใช้เต้าแบบ RCA และขั้วต่อแบบ TS 1/4 นิ้ว

แฟนทอม (Phantom)
ทำหน้าที่จ่ายไฟให้กับไมโครโฟนที่เป็นแบบคอนเดนเซอร์ ไฟที่ออกมาจะเป็นไฟแบบดีซี (DC) ซึ่งมีแรงดันระหว่าง 12-48 โวลต์

เฟส (Phase)
ทำหน้าที่ปรับแก้ไขเฟสที่ไม่ถูกต้องที่อาจเกิดจากการต่อขั้วสายที่ผิดพลาด หรือจากการวางไมค์หลายๆตัวที่อาจก่อให้เกิดการกลับเฟส (มักเกิดจากการวางไมค์มากกว่าสองตัวขึ้นไป) ให้คืนอยู่ในสภาพปกติ สวิทช์เฟสนี้จะพบในเฉพาะมิกเซอร์ราคาแพงเท่านั้น ซึ่งใช้สัญลักษณ์(ø)

แพด (Pad)
จะพบสวิทช์นี้ในมิกเวอร์ที่มีราคาแพงขึ้นมา ทำหน้าที่ลดความแรงของสัญญาณที่เข้ามาลง -20dB และในมิกเซอร์บางยี่ห้อจะใช้คำว่า MIC ATT (microphone attenuation) ซึ่งทำหน้าที่เหมือนกัน

สวิทช์เลือกไมค์,ไลน์,เทปอินพุท (Mic/Line/Tape Input Select)
ทำหน้าที่เป็นตัวเลือกแหล่งสัญญาณที่เข้ามาเพื่อให้ความเหมาะสมของระดับสัญญาณ ก่อนที่จะป้อนเข้าสู่ภาคปรีแอมป์ในมิกเซอร์ โดยไม่ก่อให้เกิดความผิดเพี้ยนของระดับสัญญาณ

เกน (Gain) หรือ อินพุททริม (Input Trim)
ทำหน้าที่ปรับแต่งความแรงของสัญญาณที่เข้ามาหลังจากภาครับ (input) เพื่อเร่งหรือลดความแรงสัญญาณที่เข้ามาให้เหมาะสมต่อภาคปรีแอมป์ (pre-amp) มากที่สุด และเพื่อเลี่ยงการเกิดอาการแตกพร่า (distortion) ในขณะใช้งานเราสามารถปรับระดับสัญญาณได้ด้วยการดูที่มิเตอร์ (VU meter)

พีคมิเตอร์ (Peak Meter)
ทำหน้าที่คอยเตือนระวังความแรงของสัญญาณที่เข้ามาในแชลเนลนั้นๆ ของมิกเซอร์ input เพื่อไม่ให้มีค่าที่กำหนดไว้โดยไฟจะสว่างขึ้น เมื่อไฟสว่างให้ปรับลดที่เกน 

เกน(gian)
วิธีการดูสัญญาณที่ขึ้นพีคนั้นสามารถช่วยให้สามารถเร่งความแรงของสัญญาณที่เข้ามาได้เต็มขณะที่เราวัดจาก VU meter และทำให้เราทราบได้ว่ามีช่วงไหนของสัญญาณที่มีความแรงสูงสุด

โลว์พาสฟิลเตอร์ (Lowpass-Filter)
ทำหน้าที่ตัดสัญญาณความถี่สูงระหว่าง 8-10kHz เพื่อไม่ให้ผ่านไปได้ แต่ยอมให้ความถี่ต่ำผ่านไปได้โดยสะดวก ซึ่งในเครื่องมิกเซอร์ราคาแพงๆ สามารถตั้งค่าความถี่สูงที่ต้องการตัดไม่ให้ผ่านได้อีกด้วย

ไฮพาสฟิลเตอร์ (Highpass-Filter)
ทำหน้าที่ตัดสัญญาณเฉพาะย่านความถี่ต่ำประมาณ 80Hz ไม่ให้ผ่านไปได้ แต่ยอมให้ความถี่สูงผ่านไปได้ ซึ่งในเครื่องมิกเซอร์ราคาแพงๆ สามารถตั้งค่าความถี่สูงที่ต้องการให้ผ่านได้อีกด้วย

แชลเนลมิว (Channel Mute)
ที่ปิด-เปิดสัญญาณเฉพาะที่เข้ามาในแต่ล่ะแชนเนลของมิกเซอร์ ประโยชน์ของปุ่มนี้ช่วยให้กำหนดการปิด-เปิด ของสัญญาณในแต่ล่ะช่องที่ได้เป็นอิสระ

อินเสิดแจ๊ค (Insert Jack)
ทำหน้าที่เหมือนสวิทช์ร่วมที่เชื่อมอุปกรณ์จากภายนอกเพื่อให้เข้ามาผสมกับสัญญาณที่อยู่ในแต่แชนเนลของมิกเซอร์ ทำให้สามารถแยกสัญญาณจากแชนเนลเพื่อส่งไปเข้าเครื่องมือช่วยปรุงเสียงต่าง เช่นคอมเพรสเซอร์ หรือดีเลย์ ได้เป็นอิสระของแต่ล่ะช่องเสียง

อีควอไลเซอร์ (Equalizer)
ทำหน้าที่ปรับความถี่ของสัญญาณที่เข้ามาเพื่อปรับแต่งหาความถูกต้องตามที่ต้องการ เรานิยมเรียกย่อว่า อีคิว(EQ) ลักษณะการทำงานของอีควนั้นจะมีแบบตั้งแต่แบบง่ายๆ สองย่านความถี่คือเสียงสูง (treble) และความถี่ต่ำ (bass) ไปจนถึงแบบละเอียดที่มีครบทุกความถี่ (สูง กลาง ต่ำ) ซึ่งจะเป็นอีคิวแบบที่เรียกว่า พาราเมทริกอีคิว (parametric EQ)

อีคิวบายพาส (EQ bypass)
ทำหน้าที่ปิดหรือเปิดในการใช้อีคิวหรือจะไม่ใช้ ทั้งนี้เพื่อการฟังเปรียบเทียบการใช้อีคิวและไม่ใช้ว่าสัญญาณเสียงก่อนใช้อีคิวและหลังใช้จะเป็นอย่างไร

เฟดเดอร์ (Fader)
ทำหน้าที่ปรับเพิ่มลดระดับสัญญาณที่เข้าและออกไปจากมิกเซอร์ output เพื่อป้อนเข้าสู่เครื่องบันทึกเทปหรือเครื่องขยายเสียง บางครั้งเรานิยมเรียกกันทั่วไปว่า วอลลุ่ม (volume)

สตูดิโอเลฟเวล (Studio Level)
ทำหน้าที่ควบคุมความดังเบาของเสียงที่ส่งออกมาจากมิกเซอร์เพื่อส่งเข้าไปยังห้องที่บันทึกเสียงเครื่องดนตรีก็คือห้อง Studio นั่นเอง

คอนโทรลรูมเลฟเวล (Control Room Level)
ทำหน้าที่ควบคุมความดังเบาของเสียงที่ได้ยินทั้งหมดจากมิเซอร์ สำหรับภายในห้องควบคุมเสียง (control room)

โซโล (Solo) หรือ PFL
ทำหน้าที่ตัดสัญญาณในแต่ล่ะช่องเสียงออกมาเพื่อการฟังโดยอิสระ โดยเราจะได้ยินเฉพาะช่องเสียงที่เรากดปุ่มโซโลใช้งานอยู่เท่านั้น โดยไม่จำเป็นต้องปิดร่องเสียงอื่นๆ เช่น ในขณะที่กำลังฟังเสียงที่เข้ามาในมิกเซอร์สี่ช่องเสียงพร้อมๆ กัน และเราต้องการฟังตรวจสอบเสียงจากช่องเสียงที่สองเพียงช่องเดียวเราก็กดปุ่มโซโลลงไป เราก็จะได้ยินเสียงจากช่องเสียงสองเท่านั้น ซึ่งมันจะทำหน้าที่ตัดเสียงแยกในช่องเสียงอื่นๆ ให้เงียบโดยอัตโนมัติ

โซโลเลฟเวล (Solo Level) หรือ PFL Level
ทำหน้าที่ควบคุมสัญญาณดังเบาเสียงของโซโลในช่องเสียงต่างๆ บนมิกเซอร์ทั้งหมด ว่าให้อยู่ในระดับความดังเบาเท่าไหร่ตามความต้องการของเอนจิเนียร์เพื่อความสมดุลของเสียงเมื่อกดออก เพื่อฟังรวมกับระดับเสียงปกติ จะได้ไม่ต่างในเรื่องของความดังเบาเสียงมากจนเกินไป

-เอฟเฟค รีเทอร์น (Effect Return)
ทำหน้าที่รับสัญญาณที่ผ่านมาจากอุปกรณ์ต่างๆที่ถูกป้อนมาจาก effect send อีกทีหนึ่งเพื่อการได้ยินเสียงที่ส่งออกมาจากเครื่องเอฟเฟค

สเตอริโอ มาสเตอร์ เฟดเดอร์ (Stero Master Fader)
มีอยู่สองลักษณะคือแบบ สไลด์โวลุ่ม (slide volume) และแบบหมุน (rotary pot) ทำหน้าที่เป็นปรับความดังเบาของสัญญาณทั้งหมดบนมิกเซอร์ทั้งซ้ายขวาก่อนที่จะออกไปสู่เครื่องมือต่างๆ

กรุ๊ปหรือบัสเอาต์พุตเฟดเดอร์ (Group or Buss Out Faders)
หรือในอีกชื่อหนึ่งว่า ซับกรุ๊ป เฟดเดอร์ (subgroup faders) ควบคุมการส่งออกของสัญญาณที่มาจากกรุ๊ป หรือบัสอินพุทเฟดเดอร์ (buss input fader) โดยจะแยกเป็นสเตอริโอซึ่งทีแพน (pan) ทำหน้าที่ควบคุมการส่งสัญญาณไปทางซ้ายหรือขวา เพื่อให้ผลของการมิกซ์เสียง หรือการจัดตำแหน่งสัญญาณ

สเตอริโอบัส อินพุท (Stero Buss Input)
ทำหน้าที่รองรับสัญญาณจากเเหล่งสัญญาณอื่นๆ เพื่อให้สามารถนำสัญญาณมาใช้สัญญาณร่วมกัน เช่น กรณีที่ใช้มิกเซอร์สองตัวโดยตัวแรกใช้สำหรับรองรับสัญญาณจากเครื่องดนตรีและเสียงร้อง ส่วนมิกเซอร์ตัวที่สองใช้สำหรับกลุ่มคีย์บอร์ด แต่เราต้องการควบคุมสัญญาณทั้งหมดจากมิกเซอร์ตัวแรก สามารถทำได้ด้วยการส่งสัญญาณจากมิกเซอร์ในตัวที่สองจากภาคเอาต์พุตสเตอริโอ (output stero) แล้วต่อเข้าที่สเตอริโอบัส (stereo buss) ที่ว่านี้ในมิกเซอร์ตัวแรก ซึ่งจะทำให้สามารถควบคุมความแรงของสัญญาณจากมิกเซอร์ตัวที่สองได้ที่มิกเซอร์ตัวแรกในภาคสเตอริโอบัสของมิกเซอร์ตัวแรก

ออก ซิเลียรี เซนด์ มาสเตอร์ (Auxiliary Send Masters)
ทำหน้าที่ควบคุมความดังเบาของสัญญาณทั้งหมดที่มาจาก aux จากแต่ล่ะช่องเสียงในมิกเซอร์ หากเราปิด aux send master ถึงแม่เราจะส่งสัญญาณจาก aux ในแต่ละแชนเนลก็จะไม่มีเสียงดัง ในทางตรงข้าม หากเราเพิ่มระดับความแรงของ aux send master ความแรงของสัญญาณจาก aux ในแต่ละช่องเสียงบนมิกเซอร์ก็จะดังทั้งหมด

ทอร์คแบ็ค (Talk Back)
ทำหน้าที่ติดต่อสื่อสารกันระหว่างห้องควบคุมและห้องบันทึกเสียง ซึ่งจะมีไมโครโฟนเล็กๆ (condencer mic) ที่อยู่บนมิกเซอร์ ทำหน้าที่ติดต่อสื่อสารระหว่างเอ็นจิเนียร์และนักดนตรี

เฮดโฟน (Headphone Control)
เฮดโฟนคอนโทรลจะทำหน้าที่เป็นตัวจ่ายสัญญาณจากมิกเซอร์ไปให้หูฟัง

โทน ออสซิเลเทอร์ (Tone Oscillator)(OSR)
ทำหน้าที่สัญญาณความถี่เสียงสูงกลางต่ำ เพื่อใช้สำหรับตรวจสอบและอ้างการทำงานต่างๆ ของมิกเซอร์ เช่น วัดตรวจสอบความสมดุลซ้ายขวาของมิกเซอร์ เป็นต้น ส่วนใหญ่จะสร้างความถี่ที่ 40Hz ,400Hz,1kHz,4kHz,10kHz,15kHz

อ๊อซิเลียอะรี (Auxiliary)
เรียกย่อๆว่า ออกเซนด์ (aux send) ทำหน้าที่เป็นตัวจ่ายสัญญาณที่เข้ามาในแต่ล่ะช่องเสียงเพื่องส่งออกไปยังอุปกรณ์ปรุงแต่งเสียงต่างๆ หรือแหล่งรับสัญญาณอื่นๆตามที่เราต้องการ ออกเซนด์ จะมีมาสเตอร์ออก (master aux ) ซึ่งควบคุมความแรงของสัญญาณ AUX ทั้งหมดในทุกช่องเสียงบนมิกเซอร์อีกต่อหนึ่ง

พรี (Pre)
หมายถึงสัญญาณที่เข้ามาในแชนเนลเสียงของมิกเซอร์ จะถูกดักออกมาก่อนจะเข้าสู่เฟดเดอร์หลักที่เครือ่งมิกเซอร์ ซึ่งเมื่อดึงเฟดเดอร์หลักลงมาเพื่อลดสัญญาณเสียงลง สัญญาณเสียงก็จะไม่เบาตามไปด้วย แต่จะไปดังออกที่ภาคพรี (pre) ซึ่งอาจจะพ่วงต่อไปยังเอฟเฟ็คต่างๆ เช่น รีเวอร์บ เป็นต้น ดังนั้นเสียงที่ยังคงได้ยินก็จะเป็นเสียงที่มากจากรีเวิร์บนั่นเอง ผลคือสัญญาณที่เข้ามาจะเป็นอิสระไม่ขึ้นกับเฟดเดอร์หลัก ทำให้สามารถนำสัญญาณนั้นๆ ไปใช้เพื่อผลได้ตามแต่ต้องการ

โฟสต์ (Post)
หมายถึงสัญญาณที่เข้ามาในแชนเนลเสียงของมิกเซอร์ จะมีผลดังเบาตามเฟดเดอร์หลัก คือเมื่อเราลดเฟดเดอร์ลงสัญญาณที่เข้ามาก็จะลดลงตามไปด้วย แม้ว่าสัญญาณจะถูกแยกส่งออกไปยังเอฟเฟคอื่นๆ ก็ตาม

แพน (Pan)
ทำหน้าที่เคลื่อนย้ายตำแหน่งสัญญาณให้ไปทางซ้ายหรือขวาและยังทำหน้าที่เป็นตัวถ่ายโอนสัญญาณร่องเสียง (track) เพื่อป้อนเข้าสู่เครื่องบันทึกเทปอีกด้วย

กรุ๊ป หรือ บัส (Group or Bus)
ทำหน้าที่รวมสัญญาณที่เข้ามาจากหลายช่องเสียง (channel) เพื่อรวมสัญญาณให้ออกที่ output เดียว เพื่อส่งต่อไปยังเครื่องขยายเสียงหรือช่องเสียงภายในมิกเซอร์เอง เช่น เราสามารถกรุ๊ป หรือ บัสเสียงของกลุ่มนักร้องประมานเสียงจากหลายๆ ช่องเสียงบนมิกเซอร์ ให้ออกเป็นช่องเสียงเดียวกันได้ ด้วยการควบคุมเฟดเดอร์เพียงตัวเดียว เพื่อสะดวกต่อการควบคุมดังเบาของสัญญาณเสียงทั้งหมด

เลือกแทรคเสียง (Track Selected)
ในมิกเซอร์ที่มีราคาแพงนั้นจะอยู่ด้านบนสุดเป็นส่วนใหญ่ ทำหน้าที่เป็นตัวจ่ายสัญญาณว่าจะให้ออกไปสู่ช่องเสียงใดที่เครื่องบันทึกเทป แบบมัลตีแทรค ซึ่งอาจเรียกได้อีกชื่อหนึ่งว่า ไดเร็คแอสไซน์ (direct assign)

ไดเร็ค เอ๊าพุท (Direct Output)
ทำหน้าที่ดักสัญญาณที่เข้ามาโดยไม่ผ่านปุ่มต่างๆ บนมิกเซอร์ เพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถนำสัญญาณสดๆ นี้ ไปต่อพวกกับอุปกรณ์แต่งเสียง (effects) หรือเครื่องบันทึกเสียงได้โดยตรงตามแต่วัตถุประสงค์ และในขณะใช้งานฟังชันต่างๆ เช่น อีคิว ก็ไม่มีผลต่อสัญญาณต้นฉบับโดยไม่โดนปรุงแต่งเสียก่อน

เอฟเฟค เซนด์ (Effect Send)
ทำหน้าที่จ่ายสัญญาณออกมาจากตัวมิกเซอร์ในแต่ล่ะช่องเสียงไปสู่เอฟเฟคต่างๆ เช่น รีเวิร์บ (reverb) หรือดีเลย์ซึ่งมักใช้ปุ่ม aux เป็นตัวส่งสัญญาณ

                                                                                                            

Knowledge Audio ความรู้เรื่องเสียง

Visitors: 2,208,999